เข้าใจมะเร็งกระเพาะอาหาร
ข้อมูลในหน้านี้อาจช่วยให้ท่านเข้าใจเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
และสิ่งที่กำลังเกิดกับร่างกาย ของท่านได้ดียิ่งขึ้นซึ่งอาจช่วยในการตัดสินในเรื่องที่สำคัญ
ร่วมกับแพทย์ของท่าน
โรคมะเร็ง
กระเพาะอาหารคืออะไร
กระเพาะอาหารเป็นอวัยวะที่เป็นโพรงอยู่ระหว่างหลอดอาหาร (ท่อที่ต่อจากด้านหลังของปากไปยังส่วนบนสุดของกระเพาะอาหาร) และลำไส้เล็ก กระเพาะอาหารถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบย่อยอาหารซึ่งช่วยทำให้อาหารที่ท่านรับประทานแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ โดยอาศัยเอนไซม์ และกรดที่กระเพาะอาหารผลิตขึ้น
มะเร็งกระเพาะอาหารคือการก่อตัวของเซลล์เนื้อร้าย(มะเร็ง)ในเยื่อบุของกระเพาะอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหารส่วนใหญ่จะตรวจพบหลังจากที่ มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารชนิดต่างๆ
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารรูปแบบที่พบบ่อยที่สุดเรียกว่าอะดีโนคาร์ซิโนมา (ออกเสียงว่า “อะ-ดี-โน-คาร์-ซิ-โน-มา”) ซึ่งเซลล์จากเยื่อบุชั้นในสุดของกระเพาะอาหารจะเติบโตอย่างไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนโรคมะเร็งกระเพาะอาหารชนิดที่ไม่ใช่อะดีโนคาร์ซิโนมา อาจมีจุดกำเนิดในเซลล์ชนิดต่างๆ และพบได้น้อยกว่ามะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมามาก ซึ่งรวมถึงเนื้องอกของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร (เนื้องอกจิสต์ Gastrointestinal Stromal Tumors; GISTs) เนื้องอกประสาทต่อมไร้ท่อ (เนื้องอกเน็ต Neuroendocrine tumors; NETs) และมะเร็งต่อมนํ้าเหลือง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
นักวิทยาศาสตร์ได้ระบุปัจจัยเสี่ยงบางอย่างต่อการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (อะไรก็ตามที่ทําให้มีโอกาสที่จะเป็นโรคมากขึ้นเรียกว่าปัจจัยเสี่ยง)
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเกือบสองเท่า และส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 55 ปี ในตอนที่ได้รับการวินิจฉัย
การติดเชื้อ Helicobacter pylori (H. pylori) :
แบคทีเรียเอชไพโลไรพบได้ทั่วไปบนเยื่อบุกระเพาะอาหารและอาจทําให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารการอักเสบของกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ผู้ที่มีภาวะนี้ ส่วนน้อยจะเริ่มมีเซลล์กระเพาะอาหารระยะก่อนเป็นมะเร็งที่สามารถลุกลามไปเป็นมะเร็งเต็มตัวได้
นํ้าหนัก:
การมีนํ้าหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนอาจทําให้มีความเสี่ยงมากขึ้น
การรับประทานอาหาร:
การรับประทานอาหารรสเค็มจัด รมควัน หมักดองหรือหมักเกลือ และ/หรือ เนื้อสัตว์ย่าง หรือแปรรูปมากๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
การดื่มแอลกอฮอล์:
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วันละ 3 แก้วขึ้นไปอาจทําให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น
การสูบบุหรี่:
อัตราการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นประมาณสองเท่าในผู้สูบบุหรี่
มีประวัติการผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือภาวะสุขภาพบางอย่าง:
ปัญหาเหล่านี้รวมถึงโรคโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 หรือภาวะไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร (ภาวะไร้กรดเกลือ Achlorhydria) อาจทําให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น โรคโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 เกิดขึ้นเมื่อกระเพาะอาหารไม่สามารถดูดซึมวิตามินบี 12 ได้เพียงพอ ซึ่งทําให้เม็ดเลือดแดงลดจํานวนลงอย่างรุนแรง ส่วนภาวะไม่มีกรดในกระเพาะอาหารนั้นเกิดขึ้นเมื่อในกระเพาะอาหารไม่มีกรดเกลือ (hydrochloric acid) ซึ่งทําให้กระบวนการย่อยอาหารบกพร่อง โปรดปรึกษาแพทย์ของท่าน หากท่านคิดว่าท่านอาจมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
การคัดกรองและการวินิจฉัย
ในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันยังไม่มีคําแนะนําสําหรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเป็นประจํา อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาวิจัยทางคลินิกต่างๆ ที่กําลังมองหาวิธีคัดกรองโรคมะเร็งชนิดนี้
โรคมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น อาจหมายถึงโอกาสที่จะรักษาและฟื้นตัวได้ดีกว่า ในขณะที่โรคมะเร็งในระยะลุกลามอาจมีความท้าทายในการรักษาเพิ่มมากขึ้น
พึงระลึกไว้ว่าการมีปัจจัยเสี่ยงตามที่ระบุไว้ข้างต้นหนึ่งอย่างขึ้นไปไม่ได้หมายความว่าท่านจะเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารแต่หากท่านคิดว่าอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น โปรดปรึกษาแพทย์ของท่านเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยอาจมีการตรวจวินิจฉัยดังต่อไปนี้
ประวัติทางการแพทย์/การตรวจร่างกาย
บุคลากรทางการแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพของท่านอาจเริ่มต้นด้วยการซักประวัติทางการแพทย์ และประวัติครอบครัวของท่าน รวมทั้งทําการตรวจร่างกายโดยละเอียด
การถ่ายภาพ (Imaging)
แพทย์อาจต้องการดูภาพถ่ายของกระเพาะอาหารและอวัยวะอื่นๆ ของท่าน การตรวจด้วยเทคนิคการถ่ายภาพทางการแพทย์ที่พบบ่อย ได้แก่:
- การกลืนแบเรียม: จะมีการเอกซเรย์กระเพาะอาหารและหลอดอาหารหลังจากผู้ป่วยดื่ม ของเหลวที่มีแบเรียม ซึ่งจะเคลือบกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร แบเรียมเป็นสารประกอบ โลหะที่ช่วยให้การเอกซเรย์เพื่อถ่ายภาพอวัยวะทำได้ง่ายขึ้น
- การตรวจด้วยการส่องกล้อง: จะมีการถ่ายภาพบางส่วนด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า กล้องส่องตรวจ ซึ่งสอดเข้าไป ในร่างกายเพื่อถ่ายภาพกล้องส่องตรวจภายใน (endoscope) เป็นเครื่องมือเล็กๆ ที่มีแสง ซึ่งจะเข้าผ่านทางปากเพื่อดูกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร ส่วนกล้องส่องตรวจช่องท้อง (laparoscope) จะเข้าผ่านรอยผ่าเล็กๆ ไปยังช่องท้องของท่าน
- ซีที อัลตราซาวด์ เพทสแกน และอื่นๆ: การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT หรือ CAT) ใช้รังสีเอกซ์เพื่อถ่ายภาพภายในร่างกาย ส่วนอัลตราซาวด์ใช้คลื่นเสียงพลังงานสูงเพื่อทำให้เกิด ภาพของอวัยวะภายในร่างกายของท่าน และการตรวจเพท (PET: Positron emission tomography) ทำโดยการใช้สารเภสัชรังสี เป็นสารตามรอย ซึ่งจะถูกฉีดเข้าไปในหลอดเลือดดำเพื่อแสดงให้เห็น ถึงตำแหน่งของเซลล์มะเร็งในร่างกาย
นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจด้วยเทคนิคการถ่ายภาพทางการแพทย์อื่นที่ใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันร่วมด้วยก็ได้
การตรวจเลือด
บุคลากรทางการแพทย์อาจเก็บตัวอย่างเลือดจากหลอดเลือดดำของท่าน การตรวจนี้จะแสดงให้เห็นอาการแสดงของโรค รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าอวัยวะภายในของท่านทำงานได้ดีเพียงใด
- การตรวจนับเม็ดเลือด(CBC): การตรวจนี้จะวัดจำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและจำนวนเกล็ดเลือดในเลือดของท่าน
- การตรวจเปปซิโนเจนในซีรัม (Serum pepsinogen test): การตรวจนี้แสดงให้เห็นระดับของเปปซิโนเจนในซีรัมซึ่งเปปซิโนเจนเป็นสารที่สามารถส่งสัญญาณบ่งบอกภาวะที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy)
ในระหว่างการส่องกล้องตรวจภายใน (endoscope) อาจมีการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือของเหลวออกมาด้วย โดยสามารถเก็บตัวอย่างได้จากเนื้องอก บริเวณผนังกระเพาะอาหาร หรือตำแหน่งอื่นๆ จากนั้นตัวอย่างจะถูกส่งไปยังนักพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจเซลล์ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์ต่อไป
พึงระลึกไว้ว่า การตรวจคัดกรองนั้นอาจมีความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงโอกาสที่จะได้ผลลบลวง ผลบวกลวง หรือเกิดผลข้างเคียงจากการตรวจได้
โปรดปรึกษาแพทย์ของท่านว่าการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระเพาะอาหารสมเหตุสมผลสำหรับท่านหรือไม่
การตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ที่พบบ่อย
หากท่านได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แพทย์ของท่านอาจสั่งตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) คือโมเลกุลทางชีวภาพซึ่งสามารถวัดได้ และพบได้ในเลือดและของเหลวในร่างกายหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ
ชนิดของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่พบในตัวอย่างของท่านอาจช่วยให้แพทย์กำหนดแผนการรักษาที่เหมาะกับท่านได้
ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่มักตรวจหาในโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่:
- ปริมาณการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็ง (TMB: tumor mutational burden)
- ตัวรับโปรตีนกระตุ้นการเจริญเติบโตเฮอร์ทู (HER2: Human epidermal growth factor receptor 2)
- ความไม่เสถียรของไมโครแซทเทลไลท์/การกลายพันธุ์ของยีนกลุ่มที่ทำหน้าที่แก้ไขความผิดพลาดจากการจำลองโมเลกุลในระหว่างการสังเคราะห์สายดีเอ็นเอ (MSI/MMR: microsatellite instability/mismatch repair)
- การรวมตัวกันของยีน NTRK (neurotrophic receptor tyrosine kinase gene fusions)
- โปรตีนพีดีแอลวัน (PD-L1: programmed death ligand 1)
วิธีการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพบางชนิดที่แพทย์ของท่านอาจส่งตรวจคือ:
- การตรวจทางอณูชีววิทยาแบบ FISH (ฟลูออเรสเซนซ์ อิน ซิตู ไฮบริไดเซซัน)
- การตรวจชิ้นเนื้อย้อมสี IHC (อิมมูโนฮิสโตเคมี)
- การตรวจหายีนที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ด้วยเทคนิค NGS (การวิเคราะห์ลำดับเบสยุคใหม่)
- การตรวจดีเอนเอด้วยวิธี PCR (ปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส)
โปรดปรึกษาแพทย์ของท่านเกี่ยวกับการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ การทดสอบทางโมเลกุล หรือการรวบรวมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้องอก ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มคำนี้หมายถึงตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (biomarkers)
การแบ่งระยะของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร:
การแบ่งระยะคืออะไรและมีวิธีการอย่างไร
การแบ่งระยะ (Staging) เป็นขั้นตอนสำคัญในการวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารของผู้ป่วย และใช้เพื่อช่วยตัดสินใจว่า จะใช้วิธีการรักษาวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็ง การแบ่งระยะเป็นวิธีอธิบายลักษณะว่าโรคมะเร็ง มีการลุกลามมากน้อยเพียงใด และมะเร็งได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ หรือไม่
นอกจากนี้ การแบ่งระยะยังสามารถช่วยให้แพทย์พยากรณ์โรคของท่านได้ ซึ่งสื่อถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น
เยื่อบุกระเพาะอาหาร 5 ชั้น
การนึกภาพเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อ 5 ชั้นของเยื่อบุกระเพาะอาหารอาจช่วยให้ท่านเข้าใจว่า ปกติแล้วโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจะมีการลุกลามจากระยะเริ่มต้นไปจนถึงระยะลุกลามได้อย่างไร โดยทั่วไป ก้อนมะเร็งส่วนใหญ่มักจะมีจุดเริ่มต้นที่ชั้นในสุดของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งก็คือชั้นเยื่อเมือก เมื่อมะเร็งไปถึงชั้นนอกของกระเพาะอาหารหรือแพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลือง โรคจะรุนแรงมากขึ้น
ภาพแสดงเยื่อบุกระเพาะอาหารชั้นต่างๆ จะแสดงตามลำดับจากด้านในสุดไปด้านนอกสุดจากบนลงล่าง
- ชั้นเยื่อเมือก (Mucosa): ชั้นในสุดซึ่งหนา เป็นส่วนที่มีการสัมผัสกับอาหาร
- ชั้นใต้เยื่อเมือก (Submucosa): ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน หลอดเลือด ท่อนํ้าเหลืองและเซลล์ประสาท
- ชั้นกล้ามเนื้อ (Muscularis): ประกอบด้วยเนื้อเยื่ออ่อนที่ช่วยให้อาหารเคลื่อนผ่านกระเพาะอาหาร
- ชั้นใต้เยื่อเลื่อม (Subserosa): ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน รองรับเยื่อหุ้มชั้นนอกสุด
- ชั้นเยื่อเลื่อม (Serosa): เยื่อหุ้มชั้นนอกสุด ช่วยให้กระเพาะอาหารเคลื่อนตัวไปชนกับอวัยวะอื่นๆ ได้อย่างราบรื่น
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารระยะต่างๆ
ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Cancer Institute, NCI)
ข้อมูลด้านล่างนี้อ้างอิงจากข้อมูลต้นฉบับที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาล
ด้านการวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง โปรดใช้ข้อมูลนี้เพื่อพูดคุยกับแพทย์ของท่านเกี่ยวกับระยะของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่ท่านเป็นอยู่
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารเริ่มตั้งแต่ระยะที่ 0 ถึงระยะที่ 4 ซึ่งตัวเลขยิ่งสูงเท่าไหร่มะเร็งก็จะยิ่ง แพร่กระจายไกลขึ้นเท่านั้น
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 0
ในโรคมะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 0
จะมีการตรวจพบเซลล์ที่ผิดปกติในเยื่อเมือกซึ่งเป็นชั้นในสุดของเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร เซลล์เหล่านี้ยังไม่เป็นมะเร็ง แต่เซลล์เหล่านี้อาจกลายเป็นมะเร็งและแพร่กระจายได้
มะเร็งระยะที่ 0 เรียกอีกอย่างว่า มะเร็งในแหล่งกำเนิด (Carcinoma in situ คาร์ซิโนมา อิน ซิตู ซึ่ง อิน ซิตู เป็นภาษาละติน แปลว่า “อยู่ในตำแหน่ง”)
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 1
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 1 แบ่งออกเป็น 2 ระยะย่อย:
ระยะที่ 1A
- มะเร็งได้เกิดขึ้นในชั้นเยื่อเมือกซึ่งเป็นชั้นในสุดของเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร และอาจมีการแพร่กระจายไปยังชั้นใต้เยื่อเมือก
ระยะที่ 1B
- มะเร็งได้ก่อตัวขึ้นในชั้นเยื่อเมือก อาจมีการแพร่กระจายไปยังชั้นใต้เยื่อเมือก (แต่ไม่จำเป็น) และได้แพร่กระจาย ไปยังต่อมนํ้าเหลืองใกล้เคียง 1 หรือ 2 ต่อม แต่ยังไม่ได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ
หรือ
- มะเร็งได้ก่อตัวขึ้นในชั้นเยื่อเมือกของเยื่อบุผนังกระเพาะอาหารและได้แพร่กระจายไปยังชั้นกล้ามเนื้อของเยื่อบุผนังกระเพาะอาหารแต่ยังไม่ได้แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลือง หรืออวัยวะอื่นๆ
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 2
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 2 แบ่งออกเป็น 2 ระยะย่อย:
ระยะที่ 2A
- มะเร็งได้เกิดขึ้นในชั้นเยื่อเมือกซึ่งเป็นชั้นในสุดของเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร และอาจมีการแพร่กระจายไปยังชั้นใต้เยื่อเมือก
หรือ
- มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองใกล้เคียง 1 หรือ 2 ต่อม แต่ยังไม่ได้แพร่กระจายไปยัง อวัยวะอื่น ๆ และมีการแพร่กระจายไปยังชั้นกล้ามเนื้อ (muscularis) ของเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร
หรือ
- มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังชั้นใต้เยื่อเลื่อม (ชั้นถัดจากชั้นนอกสุด) ของเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร แต่ยังไม่ได้แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองใกล้เคียง หรืออวัยวะอื่น
ระยะที่ 2B
- มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองใกล้เคียง 7 ถึง 15 ต่อม และอาจมีการแพร่กระจายไปยังชั้นใต้เยื่อเมือกของเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร
หรือ
- มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองใกล้เคียง 3 ถึง 6 ต่อม และมีการแพร่กระจายไปยัง ชั้นกล้ามเนื้อของเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร
บทความอื่นๆ
TH-OGA-00001 05/2024