การตรวจสแกน
ประเภทต่างๆ เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง
ทำความรู้จักกับการตรวจสแกนประเภทต่างๆ
ที่ท่านอาจได้รับตลอดการรักษา
เมื่อท่านได้รับการตรวจพบว่าท่านเป็นโรคมะเร็งท่านอาจได้รับการตรวจสแกนเพื่อถ่ายภาพเช่น เอ็มอาร์ไอสแกน (magnetic resonance imaging scan, MRI scan) หรือซีทีสแกน (computed tomography scan, CT scan) โดยท่านมีแนวโน้มที่จะได้รับการตรวจสแกนบ่อยครั้งขึ้นตลอดการรักษาของท่าน การตรวจจะช่วยให้แพทย์ของท่านเห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในร่างกายของท่าน
แพทย์ใช้การตรวจสแกนเพื่อถ่ายภาพอย่างไร
แพทย์ของท่านอาจใช้การตรวจสแกนเพื่อถ่ายภาพระหว่างการวินิจฉัยและการรักษาโรคเพื่อจุดประสงค์ดังต่อไปนี้
- ตรวจหาโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น
- ช่วยตรวจหาเนื้องอก (การเจริญเติบที่ผิดปกติ ก้อนเนื้อ หรือก้อนนูน) ในร่างกาย
- ตรวจวินิจฉัยระยะของโรคมะเร็ง
- ช่วยแพทย์ในการเลือกแผนการรักษาของท่าน
- ช่วยแสดงให้เห็นว่าเนื้องอกมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างการรักษาหรือไม่ เพื่อช่วยให้แพทย์ทราบว่าการรักษาได้ผลหรือไม่
- ดูว่าโรคมะเร็งกลับมาเป็นซํ้าหลังการรักษาหรือไม่
การตรวจสแกน
เพื่อถ่ายภาพประเภทต่างๆ
แพทย์ของท่านอาจใช้การตรวจสแกนเพื่อถ่ายภาพหลายประเภทเพื่อช่วยเลือกแผนการรักษาให้แก่ท่าน การตรวจสแกนเพื่อถ่ายภาพที่ใช้บ่อยสำหรับการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ได้แก่ เอ็มอาร์ไอสแกน ซีทีสแกน และ เพท/ซีทีสแกน (positron emission tomography/computed tomography scan, PET/CT scan) หลังจากที่ท่านได้รับการตรวจสแกนแล้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพ ซึ่งเรียกว่า รังสีแพทย์ จะอ่านผลการตรวจสแกนของท่าน เขียนรายงานเกี่ยวกับผลการตรวจ และส่งผลการตรวจให้แพทย์ของท่าน การตรวจด้วยการถ่ายภาพยังอาจรวมถึง การตรวจเอกซเรย์ การตรวจอัลตราซาวด์ การตรวจแมมโมแกรม การตรวจสแกนร่างกายทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และการตรวจอื่นๆ อีกหลายประเภท
เอ็มอาร์ไอสแกน (MRI scan)
เอ็มอาร์ไอสแกนใช้แม่เหล็กกำลังสูงเพื่อถ่ายภาพรายละเอียดภายในร่างกายของท่าน
ซีทีสแกน (CT scan)
ซีทีสแกนมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า แคทสแกน (CAT scan) ใช้รังสีเอกซ์ถ่ายภาพจากมุมต่างๆ เพื่อสร้างภาพ 3 มิติของร่างกาย
เพทสแกน หรือเพท/ซีทีสแกน (PET/ CT scan)
เพทสแกนใช้สารเภสัชรังสีซึ่งมีโมเลกุลคล้ายคลึงกับนํ้าตาลกลูโคส บางครั้งเรียกว่า สารตามรอย ฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อตรวจหาและวินิจฉัยการแพร่กระจายของมะเร็งในร่างกายของท่าน สารตามรอยจะทำให้เซลล์มะเร็งมีลักษณะสว่างกว่าเซลล์ปกติ ในภาพถ่ายที่สร้างขึ้นจากเครื่องสแกน เพท/ซีทีสแกนเป็นการใช้เพทสแกนร่วมกับซีทีสแกนเพื่อให้เห็นรายละเอียดมากขึ้นซึ่งจะช่วยในการระบุตำแหน่งที่แน่ชัดของเนื้องอก
ตัวอย่างคำถามที่ใช้สอบถามแพทย์ของท่าน
- หลังการรักษาโรคมะเร็งจะต้องทำการตรวจติดตามผลบ่อยเพียงใด
- การตรวจประเภทใดที่อาจสามารถตรวจพบการกลับมาเป็นซํ้าของโรคมะเร็ง
- มีการตรวจอื่นๆ อีกหรือไม่ ที่อาจจำเป็นเพื่อช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับขั้นตอนถัดไปในการรักษา
การเตรียมตัวเข้ารับการตรวจสแกนและการฟังผลการตรวจ
เป็นธรรมดาที่ท่านอาจรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการตรวจสแกน ท่านอาจเคยได้ยินบางคนเรียกอาการนี้ ว่าความวิตกกังวลก่อนฟังผลการตรวจสแกน
คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อน ระหว่าง และหลังการตรวจสแกนเพื่อช่วยให้ท่านรู้พร้อมและคลายความวิตกกังวลก่อนฟังผลการตรวจสแกน มีดังต่อไปนี้
ก่อนการตรวจสแกน
ก่อนการตรวจสแกน ท่านอาจมีความคิดวิตกกังวลไปต่างๆ นานา ตัวอย่างเช่น “ฉันควรแต่งกายอย่างไร” และ “จะรู้สึกอย่างไร” ท่านควรได้รับคำแนะนำจากทีมดูแลสุขภาพก่อนการนัดหมาย โปรดอ่านคำแนะนำด้านล่างนี้ เพื่อช่วยให้ท่านรู้สึกพร้อม
วางแผนสำหรับการฟังการตรวจของท่าน
พูดคุยกับแพทย์ของท่านก่อนการตรวจสแกนเพื่อหาข้อมูลว่าต้องใช้เวลานานเท่าใดกว่าที่จะได้รับผลการตรวจ และจะได้รับผลการตรวจด้วยวิธีใด ตัวอย่างเช่น แพทย์บางท่านอาจจำเป็นต้องนัดหมายให้ท่านมาฟังผลการตรวจในขณะที่แพทย์ท่านอื่นอาจแจ้งผลการตรวจผ่านทางโทรศัพท์
โทรติดต่อศูนย์ตรวจสแกนก่อนเข้ารับการตรวจ
หากท่านมีคำถามเกี่ยวกับขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นระหว่างการตรวจสแกน ให้โทรสอบถามเจ้าหน้าที่ของศูนย์ตรวจสแกนที่ท่านจะเข้ารับการตรวจสแกน เจ้าหน้าที่จะอธิบายขั้นตอนแก่ท่าน
หลีกเลี่ยงการสวมใส่สิ่งที่เป็นโลหะ
โลหะสามารถส่งผลกระทบต่อการตรวจสแกนเพื่อถ่ายภาพได้ โดยทั่วไป ในขณะที่ท่านแต่งตัว อย่าสวมสิ่งใดๆ ที่เป็นโลหะ เช่น เครื่องประดับ กิ๊บติดผม หรือเสื้อผ้าที่มีซิป
สอบถามเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มก่อนเข้ารับการตรวจ
บางครั้งแพทย์ของท่านจะแจ้งให้ท่าน ทราบว่า จะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนเข้ารับการตรวจสแกน ให้สอบถามแพทย์ของท่านว่า ต้องงดอาหารและเครื่องดื่มล่วงหน้าหรือไม่
ระหว่างการตรวจสแกน
การเตรียมพร้อมสำหรับการตรวจสแกนและการอยู่ในเครื่องสแกนอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลเพิ่มเติม ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านล่างนี้เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด
เบี่ยงเบนความสนใจในห้องรอตรวจ
พกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต พร้อมกับหูฟังไปด้วยขณะอยู่ในห้องรอตรวจ ดนตรี เกม หนังสือ หรือนิตยสาร สามารถช่วยคลายความวิตกกังวลก่อนการตรวจสแกนได้
หายใจเข้าลึกๆ
ในระหว่างที่รอการเริ่มสแกน ลองใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การหายใจเข้าลึกๆ ดังนี้
1. ในระหว่างที่นั่งหรือยืน ให้วางมือข้างหนึ่งไว้บนท้อง
2. หายใจเข้าผ่านจมูกในขณะที่ค่อยๆ พองท้องออก
3. หายใจออกช้า ๆ ผ่านริมฝีปากแคบ ๆ ค่อย ๆ ดันท้องเข้าด้านในและขึ้นด้านบนเพื่อช่วยให้ปอดโล่ง
4. ทำซ้ำ
คิดบวก
ลองจินตนาการถึงสถานที่ที่น่ารื่นรมย์ ความคิดที่เงียบสงบ และความรู้สึกต่างๆ ที่อาจช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากการตรวจสแกน
หลังการตรวจสแกน
เมื่อท่านเสร็จสิ้นการตรวจสแกน ท่านอาจยังรู้สึกไม่ผ่อนคลาย ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านล่างนี้ในขณะที่รอผลการตรวจ และเมื่อท่านนำผลการตรวจกลับบ้าน
ใช้เวลากับคนที่ท่านรัก
นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะอยู่กับคนในครอบครัวและเพื่อนๆ ซึ่งสามารถใช้เป็นวิธีในการบรรเทาความเครียดได้ ตัวอย่างเช่น ขอให้ใครสักคนพาไปเดินเล่นนอกบ้านหรือดูภาพยนตร์สนุกๆ
พาเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวไปฟังผลการตรวจด้วย
หากมีใครสักคนสามารถมากับท่านได้ พวกเขาสามารถให้ความช่วยเหลือ ช่วยจดรายละเอียดและเตือนท่านในเรื่องต่างๆ ที่ท่านต้องการพูดคุยกับทีมดูแลสุขภาพ
เล่าความวิตกกังวลของท่านให้แพทย์ฟัง
หากท่านมีคำถามใดๆ ให้สอบถามกับแพทย์ของท่านโดยทันที ผลการตรวจของท่านอาจมีรายละเอียดหลายอย่าง ที่ต้องทำความเข้าใจให้ครบถ้วน ซึ่งท่านอาจจดบันทึกเพื่อแบ่งปันข้อมูลนี้กับเพื่อนๆ หรือสมาชิกในครอบครัวที่ ไม่สามารถไปฟังผลการตรวจกับท่านได้
บทความอื่นๆ
TH-KEY-01131 10/2023