Close Mobile Navigation

จัดการอุปสรรค
ประจำวัน

เรียนรู้คำแนะนำที่อาจช่วยให้ท่าน
ฟันฝ่าอุปสรรคบางอย่างที่ท่าน
อาจเผชิญเนื่องจากการวินิจฉัยโรคมะเร็ง
ของท่าน


เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการผลข้างเคียง
รับแนวคิดที่อาจช่วยให้ท่านพูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงของท่าน




จัดการผลข้างเคียง



ติดตามว่าท่านรู้สึกอย่างไรเพื่อให้สามารถพูดคุยกับแพทย์ของท่านเกี่ยวกับผลข้างเคียง ที่อาจเกิดขึ้นได้ ท่านอาจได้รับผลข้างเคียงหรือมีอาการต่างๆ ตลอดกระบวนการรักษาโรคมะเร็ง ผลข้างเคียงและอาการเหล่านี้อาจเกิดจากโรคมะเร็งหรือการรักษาของท่าน แจ้งให้แพทย์ของท่านทราบทันที เกี่ยวกับผลข้างเคียงหรืออาการใดๆ ที่ท่านรู้สึก แพทย์สามารถช่วยให้ท่านได้รับการดูแลและการรักษาเพื่อให้ท่านสามารถจัดการกับผลข้างเคียงได

ใช้คำแนะนำในหน้านี้เพื่อช่วยจัดการผลข้างเคียงที่พบบ่อยสองสามรายการ
แจ้งให้แพทย์ของท่านทราบเกี่ยวกับผลข้างเคียงหรืออาการต่างๆ เสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์





เริ่มติดตามอาการของโรคมะเร็ง

แพทย์ของท่านสามารถช่วยท่านได้ หากพวกเขาเข้าใจชีวิตประจำวันของท่านเป็นอย่างดี ใช้เครื่องมืออย่างแบบบันทึกการติดตามอาการ (Symptom Tracker) เพื่อจดบันทึกว่าท่านรู้สึกอย่างไรในแต่ละวัน พกแบบบันทึกนี้มาด้วย ในการนัดตรวจเพื่อพูดคุยกับแพทย์ของท่าน

ดาวโหลดหรือพิมพ์ใบติดตามอาการ





การรักษาในสถานพยาบาล

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Cancer Institute, NCI)

ข้อมูลด้านล่างนี้อิงจากข้อมูลต้นฉบับที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลด้านการวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ถึงแม้ว่าคำแนะนำในหน้านี้มีไว้เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ แต่ท่านควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ก่อนเสมอ



วิธีจัดการกับความเหนื่อยล้า


ผู้คนมักอธิบายความเหนื่อยล้าที่มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็งว่ามีความรู้สึกเหนื่อยมาก ไม่มีแรง รู้สึกตัวหนักๆ หมดแรง และไม่มีพลังงาน การพักผ่อนไม่อาจช่วยให้หายจากความเหนื่อยล้า ที่มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็งเสมอไป ความเหนื่อยล้าที่มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง เป็นหนึ่งในผลข้างเคียงที่รับมือยากที่สุดสำหรับหลายๆ คน ความเหนื่อยล้าเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยของวิธีการรักษามะเร็งหลายชนิด รวมถึงเคมีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัด รังสีรักษา การปลูกถ่ายไขกระดูก และการผ่าตัด ภาวะต่างๆ เช่น โลหิตจาง ตลอดจนอาการปวด ยา และอารมณ์ ยังสามารถทำให้เกิดหรือทำให้อาการเหนื่อยล้าแย่ลงได้ วิธีจัดการกับความเหนื่อยล้ามีดังนี้

วางแผนการพักผ่อนและการทำกิจกรรมให้สมดุลกัน
เลือกกิจกรรมที่ผ่อนคลายสำหรับท่าน หลายคนเลือกที่จะ ฟังเพลง อ่านหนังสือ ทำสมาธิ ฝึกการจินตภาพภายใต้การชี้นำ หรือใช้เวลากับบุคคลที่อยู่ด้วยแล้วมีความสุข การพักผ่อน สามารถช่วยท่านออมแรงและลดความเครียดได้ แพทย์ของท่านอาจแนะนำให้ออกกำลังกายเบาๆ เพื่อให้ท่านมีเรี่ยวแรงมากขึ้นและช่วยให้ท่านรู้สึกดีขึ้น

วางแผนเวลาพักผ่อน
หากท่านรู้สึกเหนื่อยล้า ให้งีบหลับเป็นเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 1 ชั่วโมงในระหว่างวัน อย่างไรก็ตาม การนอนมากเกินไปในตอนกลางวันอาจทำให้นอนหลับยากในตอนกลางคืน เลือกกิจกรรมที่สำคัญที่สุดสำหรับท่าน และ ทำกิจกรรมเหล่านั้นตอนที่ท่านมีเรี่ยวแรงมากที่สุด
ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นสำหรับงานที่สำคัญ เช่น ทำอาหารหรือขับรถ

รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
นัดหมายกับนักโภชนาการเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถเพิ่มระดับพลังงานของท่านได้ อาหารที่มีโปรตีนและแคลอรี่สูงจะช่วยให้ท่านมีพละกำลังมากขึ้น บางคนพบว่าการกินอาหารมื้อเล็กๆ หลายมื้อตลอดทั้งวันง่ายกว่าการกินอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อ ดื่มนํ้าให้เพียงพออยู่เสมอ จำกัดการ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นัดหมายกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง:
การเข้าพบผู้ให้คำปรึกษา นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์อาจช่วยได้ ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ช่วยให้ผู้คนสามารถรับมือกับความคิดและความรู้สึกที่ยากๆ ได้ การลดความเครียดอาจทำให้ท่านมีเรี่ยวแรงมากขึ้น เนื่องจากความเจ็บปวดที่ไม่สามารถควบคุมได้ยังสามารถเป็น
สาเหตุหลักของความเหนื่อยล้า การเข้าพบกับผู้เชี่ยวชาญด้าน ความเจ็บปวดหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลแบบประคับประคองอาจช่วยได้

วิธีจัดการกับอาการท้องเสีย


อาการท้องเสีย หมายถึง การถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะนิ่ม เหลว หรือเป็นนํ้าบ่อยกว่าปกติ การรักษาโรคมะเร็งหรือโรคมะเร็ง อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือทำให้อาการท้องเสียแย่ลงได้ ยาบางตัว การติดเชื้อ และความเครียดอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน หากอาการท้องเสียรุนแรงหรือคงอยู่เป็นเวลานาน ร่างกายจะดูดซึมนํ้าและสารอาหารได้ไม่เพียงพอ ซึ่งจะทำให้ท่านขาดนํ้าหรือขาดสารอาหารได้ วิธีจัดการกับอาการท้องเสียมีดังนี้

ดื่มนํ้ามากๆ ในแต่ละวัน
คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องดื่มนํ้า 8 ถึง 12 แก้วในแต่ละวัน ให้สอบถามแพทย์หรือพยาบาล ของท่านว่าควรดื่มนํ้าในปริมาณเท่าใดในแต่ละวัน สำหรับอาการท้องเสียอย่างรุนแรง อาจแนะนำให้ดื่มเฉพาะของเหลวใสหรือ ให้สารนํ้าทางหลอดเลือดดำในช่วงเวลาสั้นๆ

กินอาหารมื้อเล็กๆ เพื่อให้ย่อยง่าย
กินอาหารมื้อเล็กๆ 6 ถึง 8 มื้อตลอดทั้งวัน แทนที่จะกินมื้อใหญ่ 3 มื้อ อาหารที่มีโพแทสเซียมและโซเดียมสูง (แร่ธาตุที่ท่านสูญเสียไปเมื่อท่านมีอาการท้องเสีย) เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนส่วนใหญ่ จำกัดหรือหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่อาจทำให้อาการท้องร่วงของท่านแย่ลง

ตรวจสอบก่อนรับประทานยา
ตรวจสอบกับแพทย์หรือพยาบาลของท่านก่อนรับประทานยาสำหรับอาการท้องเสีย แพทย์จะสั่งยาที่ถูกต้องให้แก่ท่าน

ดูแลบริเวณทวารหนักของท่านให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ
ลองใช้นํ้าอุ่นและทิชชู่เปียกเช็ดเพื่อให้สะอาดอยู่เสมอ การนั่งแช่ในนํ้าอุ่นตื้นๆ อาจช่วยได้ วิธีการเหล่านี้เรียกว่า การนั่งแช่ก้นในนํ้าอุ่น

วิธีจัดการอาการคลื่นไส้และอาเจียน


อาการคลื่นไส้ คือ เวลาที่ท่านรู้สึกไม่สบายท้องราวกับว่าท่านกำลังจะอาเจียนออกมา อาเจียน คือ เวลาที่ท่านอ้วกออกมา การควบคุมอาการคลื่นไส้และอาเจียนจะช่วยให้ท่านรู้สึกดีขึ้น และป้องกันปัญหาที่ร้ายแรงมากขึ้น เช่น ภาวะขาดสารอาหารและภาวะขาดนํ้า
แพทย์หรือพยาบาลของท่านจะพยายามหาคำตอบว่า อาการของท่านเกิดจากสาเหตุอะไร ยาที่เรียกว่ายาแก้คลื่นไส้หรือยาต้านอาการอาเจียนมีประสิทธิภาพในการป้องกันหรือลดอาการคลื่นไส้และอาเจียน วิธีจัดการอาการคลื่นไส้และอาเจียนมีดังนี้

ดื่มนํ้าและของเหลวมากๆ
การดื่มนํ้าจะช่วยป้องกันภาวะขาดนํ้า ซึ่งเป็นปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสูญเสียของเหลวมากเกินไปและท่านดื่มนํ้าไม่เพียงพอ พยายามจิบนํ้าเปล่า นํ้าผลไม้ นํ้าขิง ชา และ/หรือเครื่องดื่มเกลือแร่ตลอดทั้งวัน

หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด
อย่ารับประทานอาหารมันๆ ของทอด ของหวาน หรืออาหารรสจัด หากท่านรู้สึกไม่สบาย หลังจากรับประทานอาหารเหล่านี้ หากกลิ่นของอาหารรบกวนท่าน ควรขอให้ผู้อื่นทำอาหาร ให้ท่านลองรับประทานอาหาร ที่เย็นซึ่งไม่มีกลิ่นแรง หรือปล่อยให้อาหารเย็นลง
ก่อนรับประทาน

ลองใช้คำแนะนำเหล่านี้ในวันที่เข้ารับการรักษา
ตรวจสอบกับแพทย์หรือพยาบาลของท่านก่อนรับประทานยาสำหรับอาการท้องเสีย แพทย์จะสั่งยาที่ถูกต้องให้แก่ท่าน

ลองใช้คำแนะนำเหล่านี้ในวันที่เข้ารับการรักษา
บางคนพบว่าการรับประทานของว่างเล็กน้อยก่อนการรักษาจะช่วยได้ บางคนหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มก่อนหรือหลังการรักษา เนื่องจากทำให้พวกเขารู้สึกคลื่นไส้ หลังการรักษา ให้รออย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนรับประทานอาหารหรือดื่มนํ้า

เรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านการแพทย์ทางเลือกที่อาจช่วยได้
การฝังเข็มช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ และ/หรืออาเจียนที่เกิดจากเคมีบำบัดได้ในบางคน นอกจากนี้ การหายใจแบบใช้กระบังลม การจินตภาพภายใต้การชี้นำ การสะกดจิตและเทคนิคการผ่อนคลายอื่นๆ (เช่น การฟังเพลง การอ่านหนังสือ หรือการทำสมาธิ) ยังช่วยบางคนได้เช่นกัน

รับประทานยาแก้คลื่นไส้
ปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลของท่านเพื่อเรียนรู้ว่าเมื่อใดควรรับประทานยา คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องรับประทานยาแก้คลื่นไส้ แม้ในวันที่รู้สึกสบายดี แจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลของท่านทราบ หากยาไม่ได้ผล มียา หลายชนิด และท่านอาจใช้ยาชนิดหนึ่งได้ผลดีกว่ายาอีกชนิดหนึ่ง





ทำความรู้จักกับผลข้างเคียงของ
การรักษาโรคมะเร็งของท่าน

ผลข้างเคียงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แม้ในผู้ที่ได้รับการรักษาโรคมะเร็งชนิดเดียวกัน ในการนัดตรวจแต่ละครั้ง ควรพูดคุยกับแพทย์ของท่านเกี่ยวกับการรักษาและแจ้งให้แพทย์ทราบว่าท่านรู้สึกอย่างไร







ตัวอย่างคำถามที่ใช้สอบถามแพทย์ของท่าน


  • ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาที่ฉันได้รับมีอะไรบ้าง
  • ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการรักษาในแต่ละครั้งมีอะไรบ้าง
  • ฉันจะจัดการผลข้างเคียงได้อย่างไร
  • คุณหมอมีแผ่นพับให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยที่ฉันสามารถนำติดตัวกลับไป ซึ่งอธิบายการรักษาของฉันและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่






บทความอื่นๆ


ชนิดของมะเร็งที่พบได้บ่อย


การมีส่วนร่วมในการเลือกวิธีการรักษา




TH-KEY-01138 11/ 2023


ความร่วมมือ