วิธีการรักษาโรคมะเร็ง
ที่รู้จักกันทั่วไป
เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการรักษาประเภทต่างๆ
ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งในแผนการรักษาของท่าน
แพทย์ใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันสำหรับโรคมะเร็งชนิดต่างๆ การทราบทางเลือกในการรักษาอาจช่วยให้ท่านรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเมื่อพูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาของท่าน
วิธีการรักษา
โรคมะเร็ง
ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (National Cancer Institute, NCI)
ข้อมูลด้านล่างนี้อิงจากข้อมูลต้นฉบับที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลด้านการวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ท่านสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการรักษาประเภทต่างๆ และช่วยในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาร่วมกับแพทย์ของท่าน
การรักษาด้วยการผ่าตัด
เมื่อเลือกการผ่าตัดเป็นขั้นตอนในการรักษาโรคมะเร็ง ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อเอามะเร็งออกจากร่างกายของท่าน โดยอาจใช้การผ่าตัดเพื่อเอาเนื้องอกออกทั้งหมดหรือเอาเนื้องอกออกบางส่วน เพื่อช่วยบรรเทาอาการที่มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและการลุกลามของมะเร็ง ศัลยแพทย์ คือ แพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทางด้านการผ่าตัด การผ่าตัดมีหลายประเภท การผ่าตัดอาจเป็นการผ่าตัดแบบเปิด หรือการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
- ในการผ่าตัดแบบเปิด
ศัลยแพทย์จะทำการผ่าเปิดแผลขนาดใหญ่เพียงแผลเดียวเพื่อเอาเนื้องอก เนื้อเยื่อปกติบางส่วน และอาจเลาะต่อมนํ้าเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงบางส่วนออก - ในการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
ศัลยแพทย์จะทำการผ่าเปิดแผลขนาดเล็กสองถึงสามแผลแทนที่จะเปิดแผลขนาดใหญ่เพียงแผลเดียว ศัลยแพทย์จะสอดสายขนาดเล็กและยาว ซึ่งมีกล้องขนาดเล็กติดอยู่ ผ่านรอยแผลขนาดเล็กรูใดรูหนึ่ง สายนี้เรียกว่า กล้องส่องตรวจในช่องท้อง (laparoscope) กล้องจะแสดงภาพภายในร่างกายบนจอมอนิเตอร์ ซึ่งจะช่วยให้ศัลยแพทย์มองเห็นว่ากำลังทำอะไรอยู่ ศัลยแพทย์จะใช้เครื่องมือผ่าตัดชนิดพิเศษที่สอดผ่านรอยแผลขนาดเล็กรูอื่นๆ เพื่อตัดเอาเนื้องอกและเนื้อเยื่อปกติบางส่วนออกมา ในผู้ป่วยบางรายการผ่าตัดแบบส่องกล้องอาจใช้เวลาในการฟื้นตัวน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
พึงจำไว้ว่า ผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน ดังนั้นควรตรวจสอบกับแพทย์ของท่านเพื่อดูว่าทางเลือกใดดีที่สุดสำหรับท่าน
ตัวอย่างคำถามที่ใช้สอบถามแพทย์ของท่าน
- เหตุใดคุณหมอถึงแนะนำให้ใช้วิธีการผ่าตัด
- การผ่าตัดประเภทนี้มีประโยชน์และความเสี่ยงอะไรบ้าง
- ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานแค่ไหน
- จะมีการรักษาอื่นๆ ควบคู่กับการผ่าตัดหรือไม่
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (chemotherapy)
เคมีบำบัด (เรียกอีกอย่างว่าคีโม) เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งประเภทหนึ่งที่ใช้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง เคมีบำบัดทำงานโดยการหยุดหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เคมีบำบัดไม่เพียงแต่ฆ่าเซลล์มะเร็งที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่ยังฆ่าหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ปกติซึ่งเจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็วด้วย ตัวอย่างเช่น เซลล์เยื่อบุที่ปากและลำไส้ของท่าน และเซลล์ที่ทำให้เส้นผมของท่านงอก ความเสียหายต่อเซลล์ปกติอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น แผลในปาก คลื่นไส้ และผมร่วง ผลข้างเคียงมักจะดีขึ้นหรือหายไปหลังจากที่ท่านสิ้นสุดการรับเคมีบำบัดแล้ว มีวิธีให้เคมีบำบัดอยู่หลายวิธีวิธีที่ใช้บ่อย ได้แก่
การรับประทาน:
ยาเคมีบำบัดมาในรูปแบบเม็ด แคปซูล หรือของเหลวที่ท่านรับประทานเข้าไป
ทางหลอดเลือดดำ (intravenous, IV):
ยาเคมีบำบัดจะเข้าสู่หลอดเลือดดำโดยตรง
การฉีดยา:
ยาเคมีบำบัดจะถูกฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อแขน ต้นขา หรือสะโพก หรือใต้ผิวหนังตรง
ส่วนที่มีไขมันของแขน ขา หรือหน้าท้อง
ทางไขสันหลัง:
ยาเคมีบำบัดมาในรูปแบบเม็ด แคปซูล หรือของเหลวที่ท่านรับประทานเข้าไป
ทางช่องท้อง (intraperitoneal, IP):
ยาเคมีบำบัดจะถูกฉีดเข้าไปในช่องท้องโดยตรง ซึ่งเป็นบริเวณที่ประกอบด้วยอวัยวะต่าง ๆ
เช่น ลำไส้ กระเพาะอาหาร และตับ
ทางหลอดเลือดแดง (intra-arterial, IA):
ยาเคมีบำบัดจะถูกฉีดเข้าไปในหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมะเร็งโดยตรง
ยาทาเฉพาะที่:
ยาเคมีบำบัดมาในรูปของครีมที่ใช้ทาบนผิวหนัง
ตัวอย่างคำถามที่ใช้สอบถามแพทย์ของท่าน
- เหตุใดคุณหมอถึงแนะนำให้ใช้เคมีบำบัด
- เคมีบำบัดมีประโยชน์และความเสี่ยงอะไรบ้าง
- จะให้ยาด้วยวิธีใด
- ต้องเข้ารับเคมีบำบัดที่ใด
การรักษาด้วยการฉายรังสี (radiation therapy)
การรักษาด้วยการฉายรังสี (เรียกอีกอย่างว่ารังสีรักษา) เป็นการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้รังสีในปริมาณสูงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง และทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลง การรักษาด้วยการฉายรังสีสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งหรือช่วยลดอาการต่าง ๆ เมื่อไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ รังสีในปริมาณตํ่า ถูกนำมาใช้ในการตรวจเอกซเรย์เพื่อดูภายในร่างกายและถ่ายภาพ เช่น การเอกซเรย์ฟันและกระดูกที่หัก
การรักษาด้วยการฉายรังสีมีทั้งแบบการฉายรังสีระยะไกล (external beam) หรือระยะใกล้ (internal beam)
การฉายรังสีระยะไกล
รังสีจะมาจากเครื่องกำเนิดรังสีซึ่งเล็งลำรังสีไปที่มะเร็งของท่าน เครื่องกำเนิดรังสี มีขนาดใหญ่และอาจมีเสียงดัง เครื่องจะไม่สัมผัสกับร่างกายของท่าน แต่สามารถเคลื่อนที่ไปรอบๆ ตัวท่าน เพื่อส่งรังสีไปยังร่างกายจากหลายทิศทาง
การฉายรังสีระยะใกล้
เป็นรูปแบบการรักษาซึ่งแหล่งกำเนิดรังสีถูกฝังไว้ภายในร่างกายของท่าน รูปแบบของการฉายรังสีระยะใกล้รูปแบบหนึ่งเรียกว่า การฝังแร่กัมมันตรังสี ในการฝังแร่กัมมันตรังสีนั้น แหล่งกำเนิดรังสีที่เป็นของแข็ง เช่น เม็ดแร่ เส้นริบบิ้น หรือแคปซูล จะถูกใส่เข้าไปในร่างกายในหรือใกล้กับมะเร็ง การฉายรังสีระยะใกล้อาจอยู่ในรูปของเหลวได้อีกด้วย ท่านจะได้รับของเหลวที่มีกัมมันตรังสีด้วยการดื่ม กลืนยาเม็ด หรือได้รับผ่านทางสายให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ ของเหลวที่มีกัมมันตรังสี จะกระจายไปทั่วร่างกายเพื่อค้นหาและฆ่าเซลล์มะเร็ง
ตัวอย่างคำถามที่ใช้สอบถามแพทย์ของท่าน
- เหตุใดคุณหมอจึงแนะนำให้ใช้วิธีการรักษาด้วยการฉายรังสี
- การรักษาด้วยการฉายรังสีมีประโยชน์และความเสี่ยงอะไรบ้าง
- การรักษาด้วยการฉายรังสีจะใช้เวลากี่สัปดาห์
- ประเภทของการรักษาด้วยการฉายรังสีที่ฉันจะได้รับคือประเภทใด
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy)
ภูมิคุ้มกันบำบัด คือ วิธีการรักษาโรคมะเร็งชนิดหนึ่งซึ่งช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของท่านต่อสู้กับมะเร็ง ระบบภูมิคุ้มกันช่วยให้ร่างกายของท่านต่อสู้กับการติดเชื้อและโรคต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว อวัยวะและเนื้อเยื่อของระบบนํ้าเหลือง ภูมิคุ้มกันบำบัดที่นำมาใช้รักษาโรคมะเร็งมีอยู่หลายประเภท ซึ่ง ได้แก่
ยายับยั้งการทำงานที่อิมมูนเช็คพอยต์ (immune checkpoint inhibitor)
เป็นกลุ่มยาที่ยับยั้งอิมมูนเช็คพอยต์ เช็คพอยต์ (check point) เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันปกติ และป้องกันการตอบสนองของภูมิคุ้มกันไม่ให้รุนแรงเกินไป ยากลุ่มนี้ จะช่วยให้เซลล์ภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเซลล์มะเร็งได้รุนแรงขึ้นโดยการยับยั้งเช็คพอยต์เหล่านี้
เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม
การรักษาด้วยการถ่ายโอนทีเซลล์ (T-cell transfer therapy)
เป็นการรักษาที่กระตุ้นความสามารถตามธรรมชาติของทีเซลล์เพื่อต่อสู้กับมะเร็ง ในการรักษาด้วยวิธีนี้ จะมีการเก็บรวบรวมเซลล์ภูมิคุ้มกันจากเนื้องอกของท่าน เซลล์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการต่อสู้กับมะเร็งของท่านจะได้รับการคัดเลือกหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห้องปฏิบัติการเพื่อให้สามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งของท่านได้ดียิ่งขึ้น โดยจะถูกเพาะเลี้ยงในปริมาณมาก และส่งกลับเข้าสู่ร่างกายของท่านผ่านทางหลอดเลือดดำ โดยใช้เข็มฉีดยา การรักษาด้วยการถ่ายโอนทีเซลล์อาจเรียกอีกอย่างว่า การรักษาโดยใช้เซลล์ที่ผ่านการดัดแปลง (adoptive cell therapy), ภูมิคุ้มกันบำบัดโดยใช้เซลล์ที่ผ่านการดัดแปลง (adoptive immunotherapy) หรือการรักษาด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกัน (immune cell therapy)
โมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody)
เป็นโปรตีนของระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อจับกับเป้าหมายจำเพาะบนเซลล์มะเร็ง โมโนโคลนอลแอนติบอดีบางชนิดจะทำเครื่องหมายบนเซลล์มะเร็งเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถมองเห็นและกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น
โมโนโคลนอลแอนติบอดีดังกล่าวเป็นภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดหนึ่ง โมโนโคลนอลแอนติบอดี อาจเรียกอีกอย่างว่า แอนติบอดีสำหรับรักษาโรค (therapeutic antibody)
วัคซีนรักษาโรคมะเร็ง (treatment vaccine)
ซึ่งต่อสู้กับมะเร็งโดยการกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของท่านต่อเซลล์มะเร็ง วัคซีนรักษาโรคมะเร็งแตกต่างจากวัคซีนที่ช่วยป้องกันโรค
ยาปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกัน (immune system modulator)
ซึ่งเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต่อสู้กับมะเร็ง ยากลุ่มนี้บางตัวส่งผลต่อส่วนจำเพาะของระบบภูมิคุ้มกัน ในขณะที่ยาอื่นๆ ในกลุ่มนี้ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในลักษณะทั่วไปมากกว่า
ตัวอย่างคำถามที่ใช้สอบถามแพทย์ของท่าน
- เหตุใดคุณหมอจึงแนะนำให้ใช้วิธีการรักษาด้วยการฉายรังสี
- การรักษาด้วยการฉายรังสีมีประโยชน์และความเสี่ยงอะไรบ้าง
- การรักษาด้วยการฉายรังสีจะใช้เวลากี่สัปดาห์
- ประเภทของการรักษาด้วยการฉายรังสีที่ฉันจะได้รับคือประเภทใด
การรักษาแบบมุ่งเป้า (targeted therapy)
การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า คือ วิธีการรักษาโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่ขัดขวางการทำงานของโปรตีนจำเพาะที่ควบคุมการเจริญเติบโต การแบ่งตัว และการแพร่กระจายของมะเร็ง บางครั้งการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าจะเรียกว่า “ยามุ่งเป้าต่อโมเลกุลเป้าหมาย (molecularly targeted drug)”, การรักษาแบบมุ่งเป้าต่อโมเลกุลเป้าหมาย (molecularly targeted therapy)”, “การรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะ (precision medicine)” หรือชื่อที่คล้ายคลึงกัน
ตัวอย่างคำถามที่ใช้สอบถามแพทย์ของท่าน
- เหตุใดคุณหมอจึงแนะนำให้ใช้การรักษาแบบมุ่งเป้า
- การรักษาแบบมุ่งเป้ามีประโยชน์และความเสี่ยงอะไรบ้าง
- การรักษาแบบมุ่งเป้าเหมือนกับเคมีบำบัดหรือไม่
- การรักษาแบบมุ่งเป้ามีกี่ประเภท
การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน (hormone therapy)
การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน คือ การรักษาโรคมะเร็งซึ่งชะลอหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็ง ที่ใช้ฮอร์โมนในการเจริญเติบโต การรักษาโดยใช้ฮอร์โมนเรียกอีกอย่างว่าฮอร์โมนบำบัด (hormonal therapy), การรักษาด้วยฮอร์โมน (hormone treatment) หรือการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน (endocrine therapy)
การรักษาโดยใช้ฮอร์โมนสามารถทำได้หลายวิธี วิธีที่ใช้บ่อย ได้แก่
- การรับประทาน: การรักษาโดยใช้ฮอร์โมนมาในรูปแบบเม็ดที่ท่านกลืนเข้าไป
- การฉีด: อาจให้การรักษาโดยใช้ฮอร์โมนโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่แขน ต้นขา หรือสะโพก หรือใต้ชั้นผิวหนังใน ส่วนที่เป็นไขมันของแขน ขา หรือหน้าท้อง
- การผ่าตัด: ท่านอาจได้รับการผ่าตัดเพื่อนำเอาอวัยวะที่สร้างฮอร์โมนออก ในผู้หญิง รังไข่จะถูกตัดออก ในผู้ชาย อัณฑะจะถูกตัดออก
ตัวอย่างคำถามที่ใช้สอบถามแพทย์ของท่าน
- เหตุใดคุณหมอจึงแนะนำให้ใช้การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน
- การรักษาโดยใช้ฮอร์โมนแบบใดที่หมอแนะนำ
- การรักษาโดยใช้ฮอร์โมนมีประโยชน์และความเสี่ยงอะไรบ้าง
- ฉันควรได้รับฮอร์โมนด้วยวิธีใด
การรักษาแบบผสมผสานคืออะไร
การรักษาแบบผสมผสาน (combination therapy) คือ เมื่อแพทย์ใช้วิธีการรักษามะเร็ง ตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปร่วมกัน โดยอาจให้การรักษาทั้งหมดในเวลาเดียวกัน
ที่ละวิธีการรักษาหรือในวิธีที่แตกต่างกัน แพทย์มักจะใช้การรักษาแบบผสมผสานเนื่องจากอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งมากกว่าการรักษาด้วยวิธีเดียว สำหรับผู้ป่วยบางราย การรักษาแบบผสมผสานมีโอกาสที่จะช่วยให้หายขาดจากโรคมะเร็งสูงกว่าการรักษาด้วยวิธีเดียว ในบางสถานการณ์ การใช้การรักษาแบบผสมผสานอาจทำให้อวัยวะและเนื้อเยื่อที่สำคัญของร่างกายเสียหายน้อยลง
แพทย์อาจใช้การรักษาแบบผสมผสานเมื่อ
- การรักษาด้วยวิธีหนึ่งอาจได้ผลดีกว่าการรักษาอีกวิธีหนึ่งสำหรับระยะของโรคมะเร็งที่ท่านกำลังเป็นอยู่
- การรักษาด้วยวิธีหนึ่งอาจช่วยให้การรักษาอีกวิธีหนึ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- การรักษาด้วยวิธีเดียวอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรักษาโรคมะเร็งที่ท่านกำลังเป็นอยู่
เมื่อพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัด
แพทย์อาจแนะนำให้ใช้การผ่าตัดเป็นส่วนหนึ่งในแผนการรักษาของท่าน และขั้นตอนนี้ อาจส่งผลต่อการตัดสินใจอื่นๆ ของท่านเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโดยรวม
สิ่งสำคัญก็คือต้องถามว่ามีอะไรเพิ่มเติมที่ท่านสามารถทำได้ก่อน และ/หรือหลังการผ่าตัดหรือไม่
ในระหว่างการสนทนา ท่านอาจได้ยินคำศัพท์เหล่านี้:
การรักษาเบื้องต้นก่อนการรักษาหลัก (neoadjuvant therapy)
“การรักษาเบื้องต้นก่อนการรักษาหลัก (neoadjuvant)” หมายถึง การรักษาต่างๆ ที่ให้ก่อนการรักษาหลัก ซึ่งโดยปกติแล้ว การรักษาหลักก็คือการผ่าตัด ตัวอย่าง ได้แก่ เคมีบำบัดการฉายรังสี การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน และภูมิคุ้มกันบำบัด การรักษาใดๆ เหล่านี้อาจใช้เป็นขั้นตอนแรกเพื่อทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลงก่อนที่จะทำการผ่าตัด
การรักษาเสริมหลังการรักษาหลัก (adjuvant therapy)
“การรักษาเสริม (adjuvant)” หมายถึง การรักษาต่างๆ ที่ให้หลังจากการรักษาหลัก ซึ่งโดยปกติแล้ว การรักษาหลักก็คือการผ่าตัด ตัวอย่าง ได้แก่ เคมีบำบัด การฉายรังสี การรักษา โดยใช้ฮอร์โมน การรักษาแบบมุ่งเป้า หรือภูมิคุ้มกันบำบัด การรักษาเหล่านี้อาจถูกนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซํ้า
แพทย์ของท่านสามารถอธิบายว่า แนวทางเหล่านี้อาจช่วยวางแผนการรักษาโรคมะเร็งที่ดีที่สุดสำหรับท่านได้อย่างไร
พึงจำไว้ว่า การผ่าตัดอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสำหรับทุกคนเสมอไป ควรปรึกษากับแพทย์ของท่าน และมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจอย่างจริงจังเพื่อวางแนวทางการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับท่าน
ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจต่างๆ
ที่อาจส่งผลต่อทางเลือก
ในการรักษาของท่าน
เรียนรู้ว่าเกี่ยวกับตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ
ที่อาจช่วยในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา
บทความอื่นๆ
TH-KEY-01135 11/ 2023